สาระน่ารู้ ประจำเดือน กับเรื่องราวดีๆ
พร้อมประโยชน์เกี่ยวกับผักและผลไม้
และทางเลือกใหม่ สำหรับสมาชิก
ที่รักสุขภาพ ...

เคพกูสเบอรี่ผลไม้ดีเพื่อสุภาพ

นักวิชาการเกษตร ฝ่ายพัฒนาเกษตรที่สูง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและทดลองปลูกเกี่ยวกับเคพกูสเบอรี่หรือโทงเทงฝรั่งในมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งทำการปลูกในสภาพโรงเรือนพบว่าได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้เคพกูสเบอรี่เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค

ทุกวันนี้ ผู้คนทั่วไปตื่นตัวหันมาสนใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น โดยให้ความสำคัญถึงคุณค่าและประโยชน์จากอาหารเพื่อป้องกันหรือบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บ แทนการใช้ยารักษาโรคอย่างพร่ำเพรื่อ เหมือนคำพูดที่ว่า “...ให้กินอาหารเป็นยา ดีกว่ากินยาเป็นอาหาร...” นั่นหมายถึงอย่าทานยามากมายเกินไปจนกลายเป็นอาหาร แต่ควรทานอาหารที่มีประโยชน์และสามารถแทนยาป้องกันรักษาโรคได้นั่นเอง นอกจากนั้น ท่านคงต้องได้ยินได้พบเห็นบ่อย ๆ กับคำว่า “...สุขภาพดีไม่มีขาย...” แต่สำหรับวันนี้อยากบอกกับท่านว่า “...ผลไม้เพื่อสุขภาพดี มีขายแล้ว...”

เคพกูสเบอรี่ (cape gooseberry) เป็นผลไม้ที่มีคุณค่า อุดมไปด้วยวิตามิน C ที่มีคุณสมบัติป้องกันไข้หวัด (2009) ภูมิแพ้ วิตามินเอป้องกันอาการตาบอดในที่มืด ทำให้สายตาดี ผิวพรรณสวย ผมสวยดกดำ เคพกูสเบอรี่ อยู่ในจีนัส (Genus) Physalis และในตระกูล (Family) Solanaceae พวกตระกูลเดียวกับพริก มะเขือ มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ พิทูเนีย บางครั้งเรียก Strawberry tomato, Husk tomato และ Ground Cherry มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้แถบประเทศเปรู ชิลี จึงมีชื่อวิทยาศาสตร์ตามภูมิศาสตร์กำเนิดว่า Physalis Peruviana L. คนไทยเรียกว่า “โทงเทงฝรั่ง”
เคพกูสเบอรี่เป็นหนึ่งในผลผลิตจากงานส่งเสริมและพัฒนาไม้ผลขนาดเล็ก มูลนิธิโครงการหลวงที่ชาวเขาปลูกเป็นการค้าบนพื้นที่สูง เพื่อเป็นพืชทดแทนฝิ่นในการสร้างรายได้ การปลูกต้องเพาะเมล็ดประมาณ 1 เดือน ก่อนแล้วจึงย้ายกล้าปลูก ใช้ระยะ 1.5 ? 1.5 หรือ 2 ?2 เมตร ลักษณะโดยทั่วไป เป็นพืชประเภทเนื้อไม้นิ่ม ข้ามปี แต่นิยมปลูกปีเดียว ลำต้นสูง 0.90 – 1.8 เมตร กิ่งก้านแผ่กระจายออกเป็นพุ่มสีค่อนข้างม่วง ใบอ่อนนุ่ม รูปหัวใจ ยาวประมาณ 6 – 15 เซนติเมตร ตาดอกเกิดขึ้นตรงข้อกิ่ง ดอกสีเหลืองเข้ม มีจุดสีน้ำตาลม่วง 5 จุดที่โคนดอก กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ หลังกลีบดอกร่วง กลีบเลี้ยงสีเขียวจะหุ้มผลไว้ จากนั้น 70 – 80 วัน กลีบเลี้ยงเปลี่ยนเป็นสีฟางข้าว ผลข้างในมีสีเหลืองทองจึงเก็บเกี่ยวได้ ผลเคพกูสเบอรี่มีลักษณะกลมเกลี้ยง ผิวเรียบเป็นมัน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 – 2 นิ้ว เนื้อผลนุ่มฉ่ำแทรกด้วยเมล็ดสีเหลืองรสหวานอมเปรี้ยวนิด ๆ คล้ายสับปะรดผสมมะเขือเทศ หรือ มะเขือเทศผสมองุ่น แต่มีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากกว่า การใช้ประโยชน์ทางอาหาร เช่น แยม ซอส พายน์ พุดดิ้งกวน ไอศกรีม รับประทานเป็นสลัดผลไม้ น้ำปั่น จุ่มน้ำผึ้ง จุ่มผลด้วยช็อกโกแลต

ประโยชน์ในทางการแพทย์ของสตรอเบอรี่ดอย

ในทางการแพทย์จากอดีตนั้นพบว่าส่วนต่างๆ ของสตรอเบอรี่ดอย (Wild Strawberry) ทั้งประเภท Fvirginiana สามารถใช้เป็นประโยชน์ในการป้องกันรักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น รากที่มีความฝาดในรักษาอาการท้องร่วง และใบแปรรูปเป็นชาชงดื่มรักษาโรคบิด เป็นต้น

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบันรายงานว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด 8 ปีทีผ่านมา คาดว่าในปี พ.ศ. 2551 จะมีผู้ป่วยจากโรคมะเร็งมากถึง 120,000 ราย และพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงกว่า 40 ปีในปริมาณที่สูงขึ้น การรับประทานผักและผลไม้สดรวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผักและผลไม้ พบว่ามีผลต่อการต้านทานของโรคเรื้อรังบางชนิดได้เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคมะเร็งบางชนิด จากผลของการค้นพบในทางการแพทย์ยุคปัจจุบันนี้ นับว่าการค้นพบสารที่ต้านออกซิเจนไปรวมตัวกับสารอื่นแล้วทำลายตัวมันเองหรือเรียกว่า สาร Antioxidants นั้น เป็นการค้นพบที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าสารขจัดอนุมูลอิสระพวกนี้จะเป็นสารที่ทำให้ระบบทำงานได้ดีขึ้น อันเป็นการเสริมสร้างชีวิตให้มีคุณภาพและพลังกายให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จึงทำให้คนเราไม่เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย มีผลกระทบให้ระบบภายในของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อันเป็นการเสริมสร้างชีวิตให้มีคุณภาพและพลังกายให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผลสตรอเบอรี่สดถูกพบว่าเป็นแหล่งธรรมชาติที่ดีของสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ซึ่งประกอบไปด้วยวิตามินซี สาร anthocyanins, flavonoids และ phenolic acids ในปริมาณที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น ๆ มีรายงานการวิจัยที่พบว่า anthocyanins สามารถลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งประเภท HT-29 และ HCT-116 ในคนเราได้ และหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกได้อย่างชัดเจน โดยทั่วไประดับและปริมาณของสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่สกัดได้จากผลสตรอเบอรี่จะผันแปรไปตามประเภทของสายพันธุ์ ซึ่งปรากฏจากความเป็นจริงของผลการวิจัยว่า สตรอเบอรี่พันธุ์ลูกผสม (F.x ananassa Duch.) ที่ได้จากการผสมพันธุ์ใหม่ ๆ โดยผู้บริโภคนิยมและผลิตเป็นการค้าทั่วโลก จะมีปริมาณสารต่อต้านอนุมูลอิสระน้อยกว่าสตรอเบอรี่พันธุ์ดั้งเดิมหรือสตรอเบอรี่ดอย (wild strawberry) อย่างชัดเจน จอกจากนี้สตรอเบอรี่ลูกผสมเช่นพันธุ์ “Allstar” ก็ยังพบว่ามีปริมาณของสารต่อต้านอนุมูลอิสระน้อยกว่าพันธุ์ “Ovation” ทั้ง ๆ ที่เป็นพันธุ์ลูกผสมประเภทเดียวกัน

การวิจัยที่เป็นข้อมูลสำคัญและใหม่ล่าสุดโดย Wang และ Lewer ในปี 2007 และ Wang กับคณะในปีเดียวกันที่ห้องทดลองทางด้านไม้ผลของ U.S. Department of Agriculture ได้ค้นพบว่า สารสกัดจากผลสตรอเบอรี่สดพันธุ์ดั้งเดิมประเภท F. virginiana สามารถหยุดยั้งการขยายตัวของของเยื่อบุเซลล์มะเร็งปอด (A549) ของมุนษย์ได้มากถึง 34% ซึ่งมากกว่าสารสกัดจากผลสตรอเบอรี่สายพันธุ์พื้นเมือง (F. chiloensis) และพันธุ์ลูกผสมที่เกิดขึ้นใหม่ (F. X ananassa Duch.) ที่สามารถหยุดยั้งได้เพียง 26 และ25% ตามลำดับ (นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ P < 0.0001) นอกจากนี้ยังรายงานว่า สารสกัดจากผลสตรอเบอรี่ของ F. virginiana มีกิจกรรมของเอ็นไซม์ของสารต่อต้านอนุมูลอิสระ มากกว่าในส่วนของสตรอเบอรี่ทั้งสองประเภทข้างต้นที่นำมาเปรียบเทียบกันอย่างมีนัยสำคัญ

ขอขอบคุณข้อมูล ฝ่ายพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

 

 

 
 


CopyRight 2007.
Thai Fresh Market | support@thaifreshmarket.net
powered by i.oum